เทศกาลข้าวใหม่: ทบทวนย่างก้าวแห่งการเปลี่ยนแปลง

firstfruit-bss
ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยว

ข้าวสาร ถั่วฝักยาว ขิง แตงกวาดอย และฟักเขียว ถูกนำมากองรวมอย่างมีศิลปะกลางห้องรวมพลบ้านแสงสว่าง ดอยมูเซอ ทั้งหมดนี้คือผลผลิตจากไร่นาในความดูแลของยูดะ อนันท์คุณ ผู้อำนวยการโครงการบ้านแสงสว่าง

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา “เทศกาลข้าวใหม่ (New Rice Festival)” เพื่อฉลองการเก็บเกี่ยวของชาวไทยละหู่เวียนกลับมาอีกครั้ง เทศกาลนี้มีความคล้ายคลึงกับเทศกาลขอบคุณพระเจ้า สำหรับครอบครัวร่มไม้ เทศกาลนี้นับเป็นช่วงเวลาให้ระลึกถึงที่มาที่ไป จุดเริ่มต้น เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เรากลายมาเป็นมูลนิธิร่มไม้ในวันนี้ด้วยความรู้สึกขอบคุณต่อพระเจ้าและต่อกันและกัน

ร้องเพลงขอบพระคุณพระเจ้า
ทีมงานร่วมฉลองด้วยกัน

ก้าวแรก

ย้อนไปราว 10 ปีก่อน อารอนและเวย์แลนด์ บลู สองพี่น้องจากสหรัฐอเมริกาเดินทางมาที่ดอยมูเซอเป็นครั้งแรกและได้รู้จักกับยูดะและแสงจันทร์   อนันท์คุณ สามีภรรยาที่จิตใจคิดช่วยผู้อื่นอยู่เสมอ

พวกเขาได้พบสภาพปัญหาของผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ครอบครัวยากลำบาก เด็กจำนวนไม่น้อยถูกทอดทิ้ง ถูกล่วงละเมิด และไม่ได้รับความดูแลที่เหมาะสมแม้ว่าผู้นำชุมชนจะพยายามให้ความช่วยเหลือหลายทาง ในเวลานั้น พวกเขาตัดสินใจร่วมกันระดมทุนสนับสนุนการเปิดบ้านพักเด็กตามรูปแบบสถานสงเคราะห์เด็กในชื่อว่า “บ้านแสงสว่าง” ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนทั้งสำหรับเด็กและชุมชน

ในปี 2553 ขณะที่อารอนและภรรยา แครีน บลูซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ที่อเมริการ่วมกันหาทุนอย่างขะมักเขมันเพื่อส่งมาสนับสนุนงานของบ้านแสงสว่าง อารอนเดินทางมาไทยบ่อยครั้งเพื่อฝึกอบรมผู้นำในชุมชน บนดอยมูเซออย่างต่อเนื่อง เมื่อได้ทำงานในพื้นที่มากขึ้น เขาเริ่มเห็นจุดบอดที่ซ่อนอยู่ของรูปแบบสถานสงเคราะห์ชัดเจนขึ้น ทั้งสองคนจึงเริ่มตระหนักว่ารูปแบบบ้านเด็กหรือสถานสงเคราะห์เด็กแท้จริงแล้วกลับเป็นช่องทางหนึ่งที่เอื้อให้เกิดเด็กกำพร้ามากขึ้น เด็กที่เกิดมาทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจถูกส่งไปอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กแทนที่จะได้อยู่ร่วมกับพ่อแม่หรือญาติที่สนิทใกล้ชิด ทำให้ครอบครัวถูกแยกจากกัน และส่งผลให้เกราะป้องกันโดยชุมชนก็อ่อนแอลงด้วย

หยุดทบทวน

พวกเขาเริ่มคิดทบทวนและถามตัวเองว่า…“หากครอบครัวของเราตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากเสียจนเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะเลี้ยงลูกเองแล้ว อะไรคือความช่วยเหลือที่เราอยากได้รับจากคนอื่นๆ ที่ปรารถนาจะช่วยเรา? …ความหวังของเราคงจะเป็นความต้องการให้คนๆ นั้นเข้ามาช่วยประคับประคองเรา เดินเคียงข้างเราท่ามกลางมรสุมชีวิต ช่วยสอนหรือให้คำแนะนำเรา ทำให้เราเข้มแข็งจนสามารถก้าวไปสู่อนาคตที่ดีได้ร่วมกันเป็นครอบครัว เราไม่เคยคิดอยากจะให้ใครนำลูกไปจากเราเพื่อเราจะใช้ชีวิตต่อไปได้ดีกว่า เราคิดว่าเราจะรู้สึกละอายใจหากเราเลือกทำอย่างหลังแทนอย่างแรก”

ต่อมาในปี 2556 อารอนและแครีน พร้อมลูกๆ อีก 4 คนตัดสินใจยกครัวมาอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอชายแดนไทย-พม่าที่สำคัญแห่งหนึ่ง มาอยู่ได้ไม่นานพวกเขาก็ได้เข้าใจปัญหาและเห็นแนวทางที่ชัดเจน จนได้เขียนสโลแกน “เยียวยาครอบครัว เสริมสร้างครอบครัว ปกป้องครอบครัวให้ได้อยู่ร่วมกัน” ให้เป็นหัวใจหลักของงานของพวกเขา สอดคล้องกับงานวิจัยหลายฉบับที่ต่างบอกว่า บรรยากาศในสถานสงเคราะห์ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการสำหรับพัฒนาการทางความคิดและอารมณ์ของเด็กได้ บรรยากาศที่ดีที่สุดสำหรับการเจริญเติบโตของเด็กคือ ครอบครัว

ก้าวแห่งการเปลี่ยนแปลง

ภายในเวลาไม่กี่ปี งานในพื้นที่แม่สอดเติบโตอย่างรวดเร็ว พวกเขาลงมือทำ 7 โครงการที่ให้ประโยชน์กับครอบครัวกว่า 200 ครอบครัว และมีทีมงานจากคนท้องถิ่นและอาสาสมัครจากต่างประเทศรวมกว่า 31 คน ในขณะเดียวกันก็ยังคงสนับสนุนการดำเนินงานในรูปแบบสถานสงเคราะห์ที่บ้านแสงสว่าง

ครอบครัวอารอนและน้องๆ บ้านแสงสว่าง

แม้พวกเขาไม่ลืมหัวใจสำคัญที่ได้เขียนไว้ ซึ่งคอยย้ำเตือนว่าเด็กที่บ้านแสงสว่างนั้นต้องการครอบครัวเช่นเดียวกัน แต่การให้เด็กคนหนึ่งซึ่งผูกพันกับบ้านเด็กมานานมากกว่าความผูกพันกับพ่อแม่กลับไปอยู่ในความดูแลของพ่อแม่อีกครั้งไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ทันที การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเป็นไปอย่างละเอียดอ่อน

ในปี 2560 หลังจากจัดตั้งมูลนิธิร่มไม้สำเร็จ เราเร่งหารือกันโดยเร็วถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางการดูแลเด็กในบ้านแสงสว่าง เราต้องการวิธีที่สร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น การให้เด็กคนหนึ่งซึ่งผูกพันกับบ้านเด็กมานานมากกว่าความผูกพันกับพ่อแม่กลับไปอยู่ในความดูแลของพ่อแม่อีกครั้งไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ทันที การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเป็นไปอย่างละเอียดอ่อนเราทำงานร่วมกับองค์กรซึ่งมีประสบการณ์ในการปรับรูปแบบการคุ้มครองเด็กเช่นนี้มาก่อนเรา เพื่อช่วยทั้งครอบครัวเด็กและเด็กเองให้เข้าใจเจตนาและพร้อมรับมือกับช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของพวกเขาได้อย่างดี

ทีมงานโครงการบ้านแสงสว่างมูลนิธิร่มไม้และมูลนิธิเปี่ยมเมตต์

ช่วงปิดเทอมต้นปี 2561 ที่ผ่านมา น้องๆ ทุกคนในบ้านแสงสว่างได้กลับสู่ความดูแลของครอบครัว ทีมงานบ้านแสงสว่างเริ่มต้นเยี่ยมเยียนน้องๆ บางส่วนที่บ้านของพวกเขา แบ่งเบาภาระด้านการเงินโดยสนับสนุนเรื่องอาหาร  ให้กำลังใจ และคำปรึกษาแก่ครอบครัว

ยูดะและแสงจันทร์เยี่ยมบ้านในชุมชนดอยมูเซอ

ก้าวต่อไป

เทศกาลข้าวใหม่ของเราปีนี้ต่างไปจากทุกปี เพราะไม่มีเสียงเพลงประสานของน้องๆ 20 คนที่เคยอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้

ข้าวเหนียวใหม่ห่อแบบธรรมชาติกับลาบไก่สไตล์ละหู่

แต่เราหวัง…ว่า สิ่งที่เราตั้งใจช่วยให้น้องๆ เหล่านี้ได้กลับไปอยู่กับครอบครัวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับครอบครัวของพวกเขาต่อไป เมื่อครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก ให้ความรักและเอาใจใส่ ได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมกับการสนับสนุนให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดียิ่งขึ้น

เราหวัง…ว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งที่เชื่อว่าแม้ยากลำบากเพียงไหน การปกป้องครอบครัวให้ได้อยู่ร่วมกันและการดูแลลูกของพวกเขาด้วยตนเองนั้นเป็นไปได้และดียิ่งกว่าที่ไหนๆ 

ครอบครัวของน้องที่เคยอยู่บ้านแสงสว่างมาร่วมเฉลิมฉลองพร้อมสมาชิกใหม่

เราหวังว่า บ้านแสงสว่างจะก้าวไปเป็นพื้นที่ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชนเพื่ออนาคตของเด็กได้ดีกว่าที่เคยเป็น