เมื่อย่างเข้าเดือนกุมภาพันธ์ อำเภอแม่สอด พรมแดนการค้าระหว่างไทย-เมียนมาร์ที่ใหญ่ที่สุด และมีจำนวนแรงงานข้ามชาติจากพม่าหลั่งไหลเข้ามาทำงานในไทยมากที่สุด อีกทั้งยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละที่พักพิงของผู้ผลัดถิ่นเพราะสงครามชาติพันธุ์ที่ยาวนานที่สุดในโลกอีกกว่า 50,000 คน เป็นหนึ่งพื้นที่ที่คาดว่าจะเกิดการระบาดค่อนข้างหนัก
เดิมแม่สอดมีผู้ติดเชื้อวัณโรคและภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เชื้อไวรัสเอช.ไอ.วี) ประกอบกับปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาไร่นาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกพืชต่อเนื่องหลายเดือนซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจอยู่แล้ว ความกังวลต่อสถานการณ์เมื่อยอดผู้ป่วยในไทยเริ่มสูงขึ้นทำให้จังหวัดตากเริ่มมีมาตรการควบคุมที่เคร่งครัด มีการปิดด่าน และธุรกิจร้านค้าต่างๆ
มาตรการชะลอการเดินทางเข้าออกผ่านด่านข้ามแดนและจากส่วนอื่นของจังหวัดตากช่วยบรรเทาการระบาดลงได้มาก ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหลายชีวิต แรงงานภาคการผลิตจำนวนมากตกงาน แรงงานด้านบริการที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่ก็ต้องหยุดชะงักเมื่อมาตรการล็อคดาวน์เริ่มบังคับใช้
ทีมงานมูลนิธิฯ เริ่มมองเห็นหายนะทางเศรษฐกิจที่จะทำให้สถานการณ์ของหลายครอบครัวที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะสำหรับประชากรแรงงานข้ามชาติที่ขาดแคลนต่ออย่างเนื่องและเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ครอบครัวที่ต้องคอยติดเซ็นอาหารจากร้านขายของชำหรือต้องพึ่งหนี้นอกระบบเพื่อการรักษาโรคและประทังชีวิต
กลางเดือนมีนาคม เราจึงเริ่มวางแผนรับมือกับสถานการณ์คับขันบนพื้นฐานข้อคาดการณ์ 2 ข้อคือ
- การระบาดอาจเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะในชุมชนแรงงานข้ามชาติซึ่งมีความจำกัดในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย สเปรย์ฆ่าเชื้อ เป็นต้น
- อาจมีคนจำนวนมากที่เข้าสู่ภาวะยากจนถึงขั้นกระทบความเป็นความตาย ซึ่งไม่สามารถกลับภูมิลำเนาเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายได้
ลงมือปฏิบัติ
เนื่องจากทีมงานชาวเมียนมาร์ของเราเกือบทุกคนอาศัยอยู่ในแม่สอดอยู่แล้วทำให้เราสามารถเข้าถึงชุมชนได้อย่างรวดเร็วสิ่งที่เราเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด ณ เวลานั้นคือการเข้าถึงประชาชนในชุมชนแรงงานต่างด้าวให้ได้มากที่สุดและสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์ COVID-19 ให้กับเขา ด้วยการแบ่งปันความรู้ถึงลักษณะของโรค การระบาด และวิธีป้องกัน
เพราะความหลากหลายของภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงความเจริญทางเทคโนโลยีที่ไม่ทั่วถึง วิธีที่ดีที่สุดในการนำความรู้นี้ไปถึงชุมชนคือการไปถึงที่ที่เขาอยู่ พูดคุยกันแบบหน้าต่อหน้า ทีมของเราตระหนักว่าเราจะต้องมีแนวทางที่รัดกุมในการรักษาระยะห่าง ความสะอาด และหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันในชุมชน
เราจัดตั้งวิธีการดำเนินงานที่เรียบง่ายที่สุด เราเรียกโครงการนี้ว่า Soap N Hope: โครงการรณรงค์ให้ความรู้โรค COVID-19 แกชุมชนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่อำเภอแม่สอด จากนั้นก็ไม่รอช้ารีบหาคนมาร่วมทีมเพิ่ม
ทีมงานทุกคนจะได้รับการอบรมก่อนลงพื้นที่ ฝึกพูดตามสคริปต์ด้วยความเข้าใจ เมื่อพวกเขาไปถึงชุมชน พวกเขาจะต้องไปทีละบ้าน ทีละครอบครัว ยืนห่างจากสมาชิกในบ้านนั้น 2 เมตร อธิบายถึงโรคและสาธิตการล้างมือด้วยสบู่ โดยสวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลา และใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีเท่านั้น ก่อนเดินจากแต่ละบ้าน จะวางสบู่และหน้ากากผ้าไว้ให้ เพื่อที่ครอบครัวนั้นจะไม่เพียงได้รับความรู้แต่สามารถปฏิบัติตามได้ด้วย เราน่าจะเป็นผู้ซื้อสบู่รายใหญ่ที่สุดในแม่สอดในเดือนนั้นก็ว่าได้ ขณะเดียวกันทีมประจำสำนักงานก็เริ่มตัดเย็บหน้ากากผ้าด้วย
เราเริ่มต้นโครงการปลายเดือนมีนาคมด้วยสมาชิกทีมเพียง 6 คน ในไม่กี่สัปดาห์ทีมก็ขยายเป็น 16 คน ทีม Soap N Hope ลงเยี่ยมชุมชนประมาณ 250 ครอบครัวต่อวัน ภายในหนึ่งเดือนมีครอบครัวที่ได้เข้าร่วมโครงการกว่า 5,000 ครอบครัว หากประมาณโดยเฉลี่ยว่า 1 ครอบครัวมีสมาชิก 5 คน ก็นับได้ว่ามีแรงงานข้ามชาติและสมาชิกครอบครัวทั้งเด็กและผู้ใหญ่กว่า 25,000 คนที่ได้ได้รับความรู้ สบู่ล้างมือ และหน้ากากผ้านี้ เราหวังว่าเราได้ช่วยเตรียมครอบครัวเหล่านั้นให้พร้อมปกป้องตัวเองและครอบครัวหากการระบาดเพิ่มขึ้นในแม่สอด
ขยายขอบเขตการดำเนินโครงการ
แม้ว่าผลการดำเนินงานของโครงการในระยะที่ 1 จะเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม เราเริ่มมองเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากคนจำนวนมากที่ตกงาน
ตลอดระยะที่ 1 ของโครงการ เราไม่เพียงแค่ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ แต่ยังปักหมุดตำแหน่งที่ตั้งของทุกๆ บ้านที่เราไปถึงบนแอป Google My Maps เวย์แลนด์ บลู ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยและประเมินผลทำการประมวลผลข้อมูลและวิเคราะห์ลักษณะความเป็นชุมชนเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากหัวหน้าชุมชนแต่ละแห่ง
แผนที่ชุมชนที่ได้การอบรมการป้องกัน COVID-19 แผนที่ชุมชนที่เข้าสำรวจความต้องการและมอบของยังชีพ
ในระยะที่ 2 ทีมงานชาวเมียนมาร์จึงเริ่มติดต่อหัวหน้าชุมชนในแต่ละที่เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์ที่พวกเขากำลังประสบ ให้ข้อมูลติดต่อ ปลายเดือนเมษายน ทีมงานบางส่วนเริ่มลงพื้นที่ไปยังจุดที่ได้ปักหมุดไว้และหาหัวหน้าชุมชน
มีหลายครั้งเราต้องขับรถตามถนนที่ชันและขรุขระ เครื่องยนต์ร้อนจนเราต้องจอดพักและใช้น้ำดื่มที่ทีมแต่ละคนเอาติดตัวมาเพื่อคลายความกระหายมาดับเครื่องยนต์ แต่ทีมงานชาวเมียนมาร์ของเรายังหัวเราะได้ พวกเขาผ่านความยากลำบากมามากกว่านี้
ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ทีมสามารถเข้าถึงชุมชนกว่า 100 ชุมชนเล็กๆ ในอำเภอแม่สอด ตั้งแต่หอพักโรงงานไปจนถึงชุมชนแรงงานภาคเกษตร ได้ติดต่อกับหัวหน้าชุมชน เราได้พบผู้นำผู้หญิงในหลายชุมชน
ผลการสำรวจเป็นที่น่าชื่นใจ เราได้พบว่าหลายชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน โรงงานหลายแห่งมอบถุงยังชีพให้ลูกจ้างอยู่รอดได้ จนกว่าโรงงานจะมีรายการผลิตอีกครั้งหรือจนกว่าพรมแดนเปิดให้พวกเขากลับบ้านได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์การการกุศล และการรวมกลุ่มกันของประชาชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้มอบถุงยังชีพให้กับหลายชุมชนแล้วด้วย ทำให้เราคลายข้อกังวลไปได้
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มคนที่ยังน่าเป็นห่วง เราได้พบครอบครัวที่ตกหล่นไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือกำลังลำบากอย่างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่มีลูกมาก และยังไม่มีงานทำ และได้นำถุงยังชีพจำพวกข้าวสาร น้ำมัน ถั่วเพื่อเป็นแหล่งโปรตีน และหัวหอมซึ่งนิยมใช้ในการทำอาหารตามวัฒนธรรมของพวกเขาไปให้
โครงการ Soap N Hope ระยะที่ 2 สิ้นสุดลงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฤดูเตรียมดินและหว่านพืชเริ่มต้นแล้ว โรงงานหลายแห่งเริ่มมีงานผลิต รวมถึงมาตรการควบคุมระดับจังหวัดที่ผ่อนคลายลง ทำให้หลายครอบครัวได้กลับมาทำงานและสู้เพื่อครอบครัวของเขาได้อีกครั้ง
เด็กและครอบครัวด้อยโอกาสจำนวนมากคงตกอยู่ในอันตรายโดยไม่ได้รับการปกป้องดูแลหากขาดผู้สนับสนุนหลายท่าน มูลนิธิร่มไม้ขอขอบพระคุณ…
- คุณชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอดที่อนุญาตให้เราเข้าปฏิบัติหน้าที่ทั่วพื้นที่อำเภอแม่สอด
- คุณปณิธิ ตั้งผาติ (เตี้ยง) ประธานแม่สอดมูลนิธิสามัคคีการกุศล ผู้ร่วมบริจาคข้าวสาร พร้อมปลากระป๋อง น้ำมัน และเครื่องปรุงอาหารจำนวนหลายชุด
- กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานจังหวัดตาก ผู้สนับสนุนหน้ากากผ้าสำหรับเจ้าหน้าที่มูลนิธิ
- โรงพยาบาลแม่สอด ผู้สนับสนุนโปสเตอร์และแผ่นพับเผยแพร่ความรู้เรื่อง COVID-19 ภาษาไทยและเมียนมาร์
- ผู้บริจาคเงินสนับสนุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสำหรับภารกิจพิเศษนี้
- เจ้าหน้าที่ที่อาสาทำภารกิจด้วยความกล้าหาญและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันการระบาดอย่างเคร่งครัด
มูลนิธิร่มไม้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ เยียวยาและเสริมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัวเพื่อให้เด็กได้เติบโตในบรรยากาศครอบครัวที่เข้มแข็งและมีสุขภาพดีทั้งทางกาย ทางจิตใจ และสติปัญญา เพื่อพวกเขาจะเติบโตไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพในสังคม ปีพ.ศ. 2563 นี้อาจยังมีเรื่องท้าทายมากมายเข้ามาที่ทำให้เด็กและครอบครัวที่ด้อยโอกาสจำนวนมากยังต้องตกอยู่ในความเสี่ยงของการใช้ความรุนแรงและเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ท่านสามารถปกป้องครอบครัวให้พร้อมมอบอนาคตที่ดีที่สุดให้กับเด็กได้ บริจาควันนี้ที่…
ชื่อบัญชี: มูลนิธิร่มไม้
ธนาคาร: กรุงเทพ
เลขที่: 303-7-07057-4
เขียนโดย เวย์แลนด์ บลู
ผู้อำนวยการฝ่ายงานวิจัยและประเมินผล
แปลและเรียบเรียงโดย สินีนาถ บลู
ผู้ประสานงานด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์